วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ลักษณวงศ์

"ลักษณวงศ์" ของท่านกวีเอกสุนทรภู่  สมัยรัชกาลที่ 3






วรรณคดีเรื่องนี้มีมาแต่โบราณ  สุนทรภู่ได้นำมาแต่งใหม่เพื่อรักษาไว้มิให้
สูญหาย   "ลักษณวงศ์"  เป็นนิทานคำกลอนของท่านกวีเอกสุนทรภู่ เป็น
เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่คนในสมัยก่อนนิยมเล่าให้ลูกหลานฟัง ตัวละครมีทั้ง
มนุษย์ ยักษ์ ฤาษี พิทยาธร กินรี ม้าวิเศษ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ช่วยเสริม
สร้างจินตนาการได้เป็นอย่างดี

เป็นหนึ่งในห้าเรื่องของนิทานที่ท่านสุนทรภู่ได้แต่งไว้  ได้แก่ โคบุตร
พระอภัยมณี  พระไชยสุริยา  ลักษณวงศ์  และสิงหไตรภพ 

เรื่องลักษณวงศ์นี้  ท่านได้แต่งไว้ตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 2  แล้วมาแต่งต่อ
ในสมัยรัชกาลที่ 3  ความยาวถึง  9  เล่มสมุดไทย  (เป็นสำนวนที่ผู้อื่น
แต่งต่ออีก 30 เล่ม)  นับว่าเป็นเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง  รองจากพระอภัยมณี
และสิงหไตรภพ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ต่อเมื่อคราวตกยาก หลังจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ และสุนทรภู่สึกจากพระครั้งแรกแล้ว
หลังจากนั้นมีผู้อื่นแต่งเรื่องลักษณวงศ์ต่อไปอีก  เป็นกลอนสุภาพอีก 7 เล่ม
สมุดไทย  แล้วต่อด้วยบทละครอีก 23 เล่มสมุดไทย รวมเป็น 39 เล่มสมุดไทย แต่สำนวนกลอนในตอนหลังเทียบกับสุนทรภู่ไม่ได้เลย ทำให้สันนิษฐานได้
ว่าไม่ใช่ของสุนทรภู่

เรื่องย่อ "ลักษณวงศ์"

เป็นเรื่องของลักษณวงศ์ กษัตริย์หนุ่มรูปงามผู้รวยรัก พระโอรสของท้าว
พรหมทัต กษัตริย์ผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และนางสุวรรณอำภา แม่ผู้มีแต่ให้
ครั้งหนึ่งทั้งสามได้ออกประพาสป่า ขณะที่ทั้งสามกำลังบรรทมอยู่นั้น มี
นางยักษ์ตนหนึ่งมาพบท้าวพรหมทัตและเกิดหลงรัก จึงแปลงตนเป็นสาวงาม
ทำให้ท้าวพรหมทัตหลงใหล

ต่อมานางยักษ์ได้ยุให้ท้าวพรหมทัตสั่งให้ประหารนางสุวรรณอำภาและ
ลักษณวงศ์  แต่พระอินทร์มาดลใจเพชรฆาตให้สงสารจึงปล่อยตัวทั้งสอง
ไว้ในป่า  ทำให้ยากลำบาก

ต่อจากนั้น  ลักษณวงศ์ได้นางทิพเกสร นางผู้ถือกำเนิดจากดอกบัว เป็น
ชายา มหิงสาวิชาธรลักนางไป  เทวดามาช่วย  นางปลอมตัวเป็นพราหมณ์ตามหาลักษณวงศ์ ลักษณวงศ์ออกตามหาทิพเกสรได้นางยี่สุ่นเป็นชายา
พรานป่าพาพราหมณ์ทิพเกสรมาถวายลักษณวงศ์  ยี่สุ่นหึงจึงออกอุบาย
ให้ลักษณวงศ์ประหารนาง  ลักษณวงศ์ไม่รู้ความ  เกรงว่าพราหมณ์จะล่วง
เกินชายาของตน  จึงทรมานพราหมณ์และให้นำไปประหาร  ก่อนประหาร
ทิพเกสรประสูติพระโอรส  และเมื่อเพชฌฆาตเงื้อดาบฟันลงไปนางได้กลาย
ร่างเป็นหญิงและขาดใจตายลงไป  ลักษณวงศ์เสียใจมาก  ได้จัดพิธีศพ
อย่างยิ่งใหญ่


โอรสทั้ง 9  ของลักษณวงศ์

1. โอรสกับนางทิพเกสร ชื่อ เกสรสุริยวงค์

2. โอรสกับนางกินนร  ชื่อ  รัตนกำพล  สุรัศวดี  คงคา  ดิษฐะกุมาร และ
     สุวรรณ์วงศ์

3. โอรสกับนางยี่สุ่นสุมาลี ชื่อ วงศ์สุมาลี

4. โอรสกับนางสร้อยศะศิธร ชื่อ มณีสุริยา

5.  โอรสกับนางบุบผา ชื่อ มาลาสุริยวงศ์


สำหรับ สมุดไทย  "ลักษณวงศ์" ทั้ง 2  เล่มใหญ่ ที่ผมได้เก็บสะสมมานี้
เป็นสิ่งที่ได้สะสมกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว  เป็นสมุดไทยขาว   ผมได้
ถ่ายภาพมาให้ชมกันเป็นบางหน้า  เพื่อให้เห็นสภาพที่เป็นจริงตัวสะกด
การันต์ที่ใช้  ซึ่งน่าสนใจและน่าศึกษาค้นคว้าต่อไป














































(ถ้าต้องการให้ภาพใหญ่ขึ้น กรุณาคลิกที่เมนู  View >  Zoom > Zoom in
หลาย ๆ ครั้ง  ตามต้องการ)



พร้อมกันนี้  ผมได้ถ่ายภาพบางหน้า  จากหนังสือ "ลักษณวงศ์ อิเหนา
รามเกียรติ์"   ซึ่งสำนักพิมพ์ บันดาลสาส์น ได้ให้ความสนใจจัดพิมพ์
เผยแพร่เป็นเรื่องย่อฉบับร้อยแก้ว  นานมาแล้ว  


















นับได้ว่า  เป็นนิทานที่คนในสมัยก่อนได้ให้ความสนใจมาก และอ่านกัน
แพร่หลาย   เป็นนิทานที่มีคุณค่ามาก ทั้งในด้านวิถีชีวิต  ความเชื่อของคน
ในสมัยก่อน  คติสอนใจในเรื่องความกตัญญู  การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ
จุนเจือกัน และความซื่อสัตย์สุจริต  เป็นต้น  ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้
ได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น